โพสต์โดย : เพลิน วิชัยวงศ์ วันที่ 23 พฤษภาคม 2564 , 22:03:44 (อ่าน 2,004 ครั้ง)
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยคณะวิทยาศาสตร์ ดำเนินโครงการขยายพันธุ์และอนุรักษ์พันธุกรรมกล้วยไม้ป่าหรือกล้วยไม้พันธุ์พื้นเมือง ซึ่งเป็นโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพฯ หรือ อพ.สธ. ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรัญญา พิมพ์มงคล อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ ดำเนินโครงการต่อเนื่องมาแล้ว 10 ปี ในการเพาะเมล็ด ขยายพันธุ์และนำไปปลูกคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับธรรมชาติ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรัญญา พิมพ์มงคล หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า การดำเนินงานของโครงการขยายพันธุ์และอนุรักษ์พันธุกรรมกล้วยไม้ป่าหรือกล้วยไม้พันธุ์พื้นเมือง แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการศึกษาวิจัยด้านปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของกล้วยไม้ป่าในห้องปฏิบัติการ เช่น ผลของฮอร์โมนพืช ธาตุอาหาร น้ำตาล หรือ แสง เป็นต้น ส่วนที่ 2 เป็นการขยายพันธุ์กล้วยไม้ป่าเพื่อการอนุรักษ์ โครงการได้รวบรวมพันธุ์กล้วยไม้ป่าเพื่อนำฝักกล้วยไม้มาเพาะเมล็ดในห้องปฏิบัติการ โดยปกติแล้วเมล็ดกล้วยไม้งอกได้ยากมากในธรรมชาติ เพราะเมล็ดกล้วยไม้ไม่มีอาหารสะสมสำหรับไว้เลี้ยงต้นอ่อน แต่ในอาหารที่ใช้เพาะเมล็ดในห้องปฏิบัติการมีสารอาหารต่างๆ อย่างสมบูรณ์จึงทำให้เมล็ดกล้วยไม้สามารถงอกได้จำนวนมาก เมื่อกล้วยไม้ที่เพาะไว้เจริญเติบโตเต็มที่ก็นำออกจากขวดเพื่อนำไปปลูกในสภาพธรรมชาติต่อไป โครงการได้นำกล้วยไม้ป่าออกปลูกทุกปีโดยติดลูกกล้วยไม้ไว้ที่ต้นไม้ใหญ่รอบๆ คณะวิทยาศาสตร์ ป่าร่องก่อ บางพื้นที่ของมหาวิทยาลัยอุบลฯ และวัดป่าบางแห่ง
กล้วยไม้ป่าที่ได้รวบรวมพันธุ์และขยายพันธุ์ไว้ในธรรมชาติมีมากกว่า 30 ชนิด เพื่อใช้ในการติดฝักและนำมาเพาะเมล็ดในห้องปฏิบัติการ นอกจากจะขยายพันธุ์จากการเพาะเมล็ดแล้ว โครงการยังได้ขยายพันธุ์กล้วยไม้จากการแยกหน่อ และการปลูกจากตะเกียงกล้วยไม้ด้วย กล้วยไม้ที่โครงการได้ปลูกไว้เมื่อออกดอกสวยงามก็สามารถให้ความรื่นรมย์ต่อผู้ที่ชื่นชอบ และยังใช้เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับกล้วยไม้ป่าแก่ผู้ที่มีความสนใจได้อีกด้วย ผู้สนใจแวะชมได้ที่บริเวณโดยรอบอาคารวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว