มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี : Ubon Ratchathani University
 นักศึกษา    บุคลากร    ศิษย์เก่า   UBU English       |      




ม.อุบลฯ บูรณาการ การเรียนการสอนสู่ชุมชน ลงพื้นที่ชุมชนให้ความรู้ป้องกันและรักษาโรคลัมปี สกิน โรคอุบัติใหม่ในโคกระบือ


โพสต์โดย : เพลิน วิชัยวงศ์     วันที่ 9 สิงหาคม 2564 , 22:39:09     (อ่าน 1,735 ครั้ง)  



            มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย คณะเกษตรศาสตร์ จัดโครงการบริการวิชาการแก่สังคม ประจำปี 2564โครงการให้ความรู้และบริการรักษาสุขภาพโค กระบือจากโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) นำทีมโดย นายสัตวแพทย์ ดร.นนทกรณ์ อุรโสภณ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วยบุคลากรและนักศึกษาสาขาวิชาเกษตรศาสตร์ วิชาเอกสัตวศาสตร์ ลงพื้นที่ให้ความรู้เรื่องโรคลัมปีสกิน เรื่องเวชภัณฑ์ การใช้ยาและแนวทางการรักษาป้องกัน เพราะเป็นโรคอุบัติใหม่ในไทย นอกจากนี้ยังมอบเวชภัณฑ์พวกยาทำแผล ยาป้องกันแมลง ยาฆ่าเชื้อ วิตามินเกลือแร่ และสอนวิธีวัดไข้ แจกปรอทวัดไข้ให้กับเกษตรกร ณ บ้านคำลือชา ต.โพธิ์ใหญ่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี  กำหนดดำเนินโครงการ 7 ครั้ง ในเขตพื้นที่บริการขุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยและในเขตจังหวัดอุบลราชธานี ภายในเดือนกันยายนศกนี้

         นายสัตวแพทย์ ดร.นนทกรณ์ อุรโสภณ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ในปี 2563ที่ผ่านมา มีรายงานจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) พบการระบาดของโรคลัมปี สกิน ซึ่งเป็นโรคประจำถิ่นในประเทศแถบแอฟริกา และมีการแพร่กระจายของโรคในภูมิภาคเอเชีย ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2563มีรายงานแจ้งเตือนการเกิดโรคลัมปี สกิน ในโคเนื้อ ในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จึงเป็นโรคอุบัติใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ประเทศไทย ซึ่งมีการนำเข้า โค กระบือ จากประเทศเพื่อนบ้าน มีความเสี่ยงสูงที่จะพบการระบาดของโรคดังกล่าว ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้รับรายงานพบโคเนื้อแสดงอาการสงสัยโรคลัมปี สกิน เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2564ซึ่งเป็นการตรวจพบโรคดังกล่าวเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

          โรคลัมปี สกิน มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส Lumpy skin disease virus หรือเชื้อไวรัสฝีดาษในตระกูล Capripoxvirus เป็นโรคที่เกิดเฉพาะในโค กระบือ ไม่เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้ก่อโรคตามอวัยวะต่างๆ ที่มีเซลล์เยื่อบุ มีลักษณะอาการ คือ สัตว์จะมีไข้สูงได้ถึง 41องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำนมลดอย่างเห็นได้ชัดในโคนม ซึม เบื่ออาหาร ซูบผอม เยื่อจมูกอักเสบ เยื่อตาขาวอักเสบ มีปริมาณน้ำลายมากกว่าปกติ ต่อมน้ำเหลืองบวมโต เกิดตุ่มบริเวณผิวหนังขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2–5ซม. ทั่วตัว โรคนี้มีแมลงดูดเลือด เช่น เห็บ แมลงวันดูดเลือด และยุง เป็นพาหะที่สำคัญในการแพร่กระจายเชื้อ

          สำหรับการป้องกันโรคลัมปี สกิน สามารถป้องกันหรือลดโอกาสการติดเชื้อได้ด้วยการกำจัดแมลงโดยใช้สารเคมีกำจัดแมลงแบบฉีด แบบราดหลัง หรือแบบฉีดพ่นสำหรับสัตว์ทุกตัวในฝูง ดำเนินการปรับภูมิทัศน์โดยรอบฟาร์มให้โปร่งโล่ง ไม่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของแมลงพาหะ รวมถึงกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในพื้นที่โดยรอบ กำจัดมูลสัตว์ออกจากฟาร์มเป็นประจำ หรือใช้ผ้าใบคลุมเพื่อป้องกันแมลงมาวางไข่ รวมทั้งการกางมุ้งให้แก่สัตว์เพื่อป้องกันแมลงดูดเลือด และจากการรายงานครั้งแรกปลายเดือนมีนาคม 2564โรคได้กระจายระบาดไปทั่วทั้งประเทศ ทำให้เกษตรกรเกิดความสูญเสีย เป็นภาระค่าใช้จ่ายในสถานการณ์โควิด และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปัจจุบัน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงดำเนินโครงการดังกล่าวขึ้น

            นับเป็นอีกหนึ่งโครงการบริการวิชาการ ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการช่วยเหลือชุมชนและสังคม เป็นการบูรณาการ การเรียนการสอนกับนักศึกษาสาขาสัตวศาสตร์ ได้เรียนรู้จากปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ได้ลงพื้นที่พบเจอปัญหาโรคสัตว์และดำเนินการแก้ไข นำไปสู่การมีส่วนร่วมกับชุมชนในทุกๆด้าน ซึ่งเป็นหลักสำคัญของแผนยุทธศาสตร์ในการเป็น “มหาวิทยาลัยในดวงใจของชุมชน”

                                                                        เพลิน  วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว




SDG Hashtag :

Tag อื่นๆ :