โพสต์โดย : ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 , 11:42:56 (อ่าน 1,562 ครั้ง)
ม.อุบลฯ ร่วมอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรม
“งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2565”
ขบวนเทียนโบราณ “ฮุงเฮือง เรืองอร่าม งามวัฒนธรรม มูนมังเมืองล้ำค่า”
-------------------------------------
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม 2565 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรม“งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2565” นำทีมโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พร้อมคณะผู้บริหาร บุคลากร และนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีร่วมขบวน “ฮุงเฮือง เรืองอร่าม งามวัฒนธรรม มูนมังเมืองล้ำค่า”โดยมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดและ นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์ในการจัดประเพณีแห่เทียนครั้งนี้ เพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2565 ภายใต้ชื่องาน “121 ปี ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา” กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 11 - 17 กรกฎาคม 2565 ณ บริเวณรอบสนามทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
สำหรับปีนี้ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้จัดขบวนร่วมอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น โดยการจัดทำขบวนแห่เทียนโบราณเพื่อสืบสานประเพณีวัฒนธรรม ต่อยอดภูมิปัญญา สร้างสรรค์ความงดงามจากอดีตสู่ปัจจุบัน ขบวนเทียนโบราณ 121ปี ทวยราษฏร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา “ฮุงเฮือง เรืองอร่าม งามวัฒนธรรม มูนมังเมืองล้ำค่า”อำนวยการโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดี พร้อมบุคลากรและนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมสืบสานประเพณีวัฒนธรรมในขบวนแห่เทียนโบราณ นำโดยคณะผู้บริหารและผู้แทนนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ถือเครื่องถวายแบบโบราณ อันได้แก่ขันหมากเบ็ง ต้นผึ้ง ขันดอกไม้ และบายศรี ที่มาพร้อมกับการแต่งกายอันผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมสยามกับล้านช้าง ผ่านวัฒนธรรมการทอผ้าที่สวยงาม เป็นเอกลักษณ์สะท้อนความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดอุบลราชธานี ที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขเสมอมา
ตามมาด้วยการแห่เทียนโบราณ ซึ่งเทียนโบราณนั้น เป็นการนำเทียนเล่มเล็กๆ มามัดรวมกัน เพื่ออนุรักษ์รูปแบบต้นเทียนดั้งเดิมไว้ โดยในปีนี้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้อัญเชิญเทียนโบราณบนเสลี่ยงมณฑปที่ออกแบบอย่างวิจิตรโดยคณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ อัญเชิญโดยชายชาวอีสานที่มาพร้อมกับเอกลักษณ์อันโดดเด่น นั่นคือการสักขาลายซี่งเป็นวัฒนธรรมร่วมอันเก่าแก่ในแถบถิ่นสุวรรณภูมิ รวมถึงภาคอีสานของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีหญิงงามที่โปรยข้าวตอกดอกไม้เพื่อร่วมยินดีในการทำบุญบารมีครั้งนี้อีกด้วย
และในรูปขบวนชุดต่อมา คือ บรรดาอัญญาเมืองอุบลราชธานี ที่แต่งกายอย่างงดงาม ตามแบบฉบับหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ซึ่งถือเป็นต้นแบบในการแต่งกายของสตรีในยุคอดีตของชาวอุบล เป็นการผสมผสาน เสื้อแบบสากลกับผ้าถุงพื้นเมืองของอุบลจนเกิดเป็นรูปแบบที่สวยงาม โดยการสนับสนุนจาก สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยอุบลราชธานี ชมรมสถานีกาชาดที่ 7ชมรมองค์การบริหารส่วนจังหวัดชมรมอุบลบัวงาม และศูนย์ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุสรรพสิทธิประสงค์
ในรูปขบวนสุดท้ายของการแห่เทียนโบราณ คือ ธุงอีสาน โดยในงานบุญประเพณี ชาวอีสานได้ประดิษฐ์ “ตุง” หรือ “ธุง” หลายรูปแบบและหลากสีสันบนผืนผ้าเพื่อสื่อความหมายระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ โดยธุงดังกล่าวเป็นผลงานการออกแบบและสร้างสรรค์ของนักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ร่วมนำเสนอความงดงามของขบวนเทียนโบราณ เพื่อร่วมเป็นหนึ่งและสืบสานวัฒนธรรมประเพณี 121 ปี ทวยราษฏร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
1. ประมวลภาพประเพณีแห่เทียน 2565 https://drive.google.com/drive/folders/1ggYdb6lEMeLmA2eeoOu-eb63Xo5XtsN3
2. ประมวลภาพประเพณีแห่เทียน 2565 https://drive.google.com/drive/folders/1dgbTg11GbIdR2u4tBQoYw7GLH4tI59Rs
----------------------------------
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ข่าว/ภาพ งานประชาสัมพันธ์ฯ ม.อุบลฯ