มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี : Ubon Ratchathani University
 นักศึกษา    บุคลากร    ศิษย์เก่า   UBU English       |      




สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปีการศึกษา 2565


โพสต์โดย : ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร     วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 , 15:00:22     (อ่าน 938 ครั้ง)  



สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์

พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประจำปีการศึกษา 2565

--------------------------------------

          สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประจำปีการศึกษา 2565 ครั้งที่ 32 ในวันพฤหัสบดี ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 08.40 น. ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตำบลเมืองศรีไค อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

          วันนี้ เวลา 08.40 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประจำปีการศึกษา 2565 ครั้งที่ 32 โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดอุบลราชธานี ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 22 ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ศาสตราจารย์พิเศษจอมจิน  จันทรสกุล นายกสภามหาวิทยาลัยและ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์  ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดี เฝ้ารับเสด็จ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดอุบลราชธานี ผู้แทนคณาจารย์ ผู้แทนนักศึกษาและผู้แทนบัณฑิต ทูลเกล้า ฯ ถวายมาลัย

          ในปีนี้สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระปรีชาสามารถในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการศึกษา พระองค์ทรงเป็นนักการศึกษาที่ทรงสนพระทัยในศาสตร์ต่าง ๆ และทรงโปรดที่จะศึกษาค้นคว้าอย่างกว้างขวางรอบด้าน ความใฝ่พระทัยในการศึกษาของพระองค์นั้น มีมาเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ทรงมุ่งมั่นอุตสาหะเพื่อศึกษาสิ่งที่สนพระทัยอย่างจริงจัง พระองค์ทรงเป็นแรงบันดาลใจและแบบอย่างที่ดียิ่งแก่ครูในวงการศึกษา โดยทรงเป็นศาสตราจารย์และทูลกระหม่อมอาจารย์ของนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณให้ปรากฏ และเป็นสิริมงคลอันสูงสุดแก่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและวงการศึกษาศาสตร์สืบไป

          ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่ผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่าง ๆ ได้แก่ ศาสตราจารย์ทวีเกียรติ  มีนะกนิษฐ ปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์และ ศาสตราจารย์เกียรติคุณสมพล  ประคองพันธ์ ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเภสัชศาสตร์ และรางวัลรัตโนบล ประจำปี 2566 ประเภทนิติบุคคล/องค์กร ได้แก่ มูลนิธิอาจารย์เกษม  ปังศรีวงศ์ และ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ประเภทบุคคลทั่วไป จำนวน 1 ราย นางวิยะดา  อุนนะนันทน์ ที่เข้ารับพระราชทานในครั้งนี้ด้วย ในโอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รวมทั้งสิ้นจำนวน 2,290 ราย ระดับปริญญาตรี จำนวน 2,201 ราย ระดับปริญญาโท จำนวน 73 ราย และระดับปริญญาเอก จำนวน 16 ราย

          โอกาสนี้ พระราชทานพระราโชวาท ความสำคัญตอนหนึ่งว่า...ในปัจจุบัน  กล่าวกันมากว่า  การเรียนรู้ตลอดชีวิตมีความสำคัญเป็นอย่างมาก  เนื่องจากเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น  จนอาจมีความสามารถที่จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ในกิจการงานต่าง ๆ.  หากคนเราไม่เรียนรู้และปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงนี้ก็คงยากที่จะดำเนินชีวิตและประกอบกิจการงาน  ให้บรรลุถึงความสำเร็จและความเจริญได้.  ข้าพเจ้าจึงใคร่จะกล่าวถึง  วิธีการพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียนตลอดชีวิต  เพื่อให้ทุกท่านได้พิจารณา.  ประการแรก  กระทำตนให้พร้อมที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา  โดยระลึกไว้เสมอว่าความรู้ความสามารถนั้นเป็นสิ่งที่พัฒนาได้  ด้วยการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม  และการฝึกหัดปฏิบัติ.  ประการที่สอง  เข้าไปคบหาสมาคมกับคนดีมีความรู้ความสามารถ  จะได้ถ่ายทอดความรู้และความดีซึ่งกันและกัน  ช่วยชักนำกันให้เกิดความอุตสาหะพากเพียรในการเรียนรู้และการพัฒนาตนเอง.  ประการที่สาม  ลงมือปฏิบัติ  ซึ่งจะทำให้เกิดการเรียนรู้ได้มากกว่าการท่องจำแต่เพียงอย่างเดียวและเป็นการพัฒนากระบวนการคิด  ตลอดจนการนำความรู้มาปรับใช้และต่อยอด  อันจะทำให้เกิดความมั่นใจและความเชี่ยวชาญชำนาญ  ซึ่งน้อมนำให้เกิดความใฝ่รู้ใฝ่เรียนได้เป็นอย่างดี.  ประการที่สี่  เลือกการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตนเอง  โดยกำหนดวิธีการ  ช่วงเวลา  เป้าหมาย  ลำดับในการเรียนรู้  และเรื่องที่จะเรียนรู้  ให้พอเหมาะพอดีกับศักยภาพ  ความถนัด  ความสนใจและปัจจัยแวดล้อมของตน.  ประการสุดท้าย  เมื่อสำเร็จการศึกษา  ออกจากมหาวิทยาลัยแล้ว  อาจจะไม่มีผู้ใดมาคอยบอกกล่าวหรือกระตุ้นเตือนให้ศึกษาหาความรู้  มีเพียงตนเองเท่านั้นที่จะกระตุ้นและผลักดันตนเอง  ให้มีความตั้งใจอันมั่นคงที่จะเรียนรู้ต่อไปไม่สิ้นสุด.  จึงขอให้บัณฑิตทุกคน  หมั่นฝึกฝนพัฒนาตนเองดังที่กล่าว  เพื่อความสำเร็จและความเจริญมั่นคงในชีวิตและกิจการงานสืบไป.

          เสร็จพิธีพระราชทานปริญญาบัตร สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จ ฯ ไปยังบริเวณฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับคณะผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะทำงาน จำนวน 2 ชุด นายกสภามหาวิทยาลัย กราบบังคมทูลเบิกผู้ได้รับรางวัล เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลวิโรจน์รัตโนบล จำนวน 1 ราย จากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จไปยังห้องจัดแสดงนิทรรศการทอดพระเนตรนิทรรศการ “แสงแรก แสงเทียน แสงธรรม แสงเทพรัตน์” งานวิจัยยกระดับทุนทางวัฒนธรรม สู่ผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ชุมชน เสด็จไปยังบริเวณโถงอาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา เพื่อให้นักศึกษาทุนพระราชทานในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเข้าเฝ้า ฯ จำนวน 7 ราย ในปีนี้  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์  ประสิทธิภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คณาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา และตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ทูลเกล้าฯ ถวายสิ่งของ จำนวน 17 รายการ ในวโรกาสที่ เดโชชัย พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2565 เสด็จฯ ณ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 

          ในการดำเนินการที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเปิดการเรียนการสอนมาแล้ว 33 ปี จัดการเรียนการสอนจำนวน 80 หลักสูตร มีนักศึกษารวมทั้งสิ้นจำนวน 17,546 คน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีพันธกิจในการสร้างบัณฑิตที่มีทักษะสูง มีทักษะการเป็นผู้ประกอบการ สามารถปฏิบัติงานได้จริงเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจและสังคม บริการวิชาการ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของสังคมและภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมวัฒนธรรมและภูมิปัญญาอีสานใต้อย่างสร้างสรรค์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เพื่อมุ่งสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำในอาเซียน ที่ยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่สังคม ภายใต้ปรัชญา “สร้างสติและปัญญาแก่สังคม บนพื้นฐานความพอเพียง”

---------------------------------------

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ปีการศึกษา 2565  ข่าว/ภาพ ฝ่ายบันทึกภาพ




SDG Hashtag :

Tag อื่นๆ :