โพสต์โดย : เพลิน วิชัยวงศ์ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 , 11:15:27 (อ่าน 432 ครั้ง)
ศูนย์ประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดโครงการอบรมปฏิบัติการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน หลักสูตร การสำรวจและจัดทำฐานทรัพยากรท้องถิ่น (9 ใบงาน) รุ่นที่ 1 โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ทวนทอง จุฑาเกตุ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม และผู้อำนวยการศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นประธาน และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรสิทธิ์ สุทธิคำภา รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวรายงาน มีผู้สนใจเข้าร่วมฝึกอบรม จำนวนทั้งสิ้น 80 คน จากโรงเรียนสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน จำนวน 13 แห่ง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 21 แห่ง ในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร และสุรินทร์ คณะวิทยากร ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่โครงการ อพ.สธ. วิทยากรประจำศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.- มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปราชญ์ท้องถิ่น ณ ห้องประชุม 201 ชั้น 2 อาคารศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีระหว่างวันที่ 13 - 16 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา
ศาสตราจารย์ ดร.ทวนทอง จุฑาเกตุ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม และผู้อำนวยการศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า การอบรมปฏิบัติการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน หลักสูตร การสำรวจและจัดทำฐานทรัพยากรท้องถิ่น (9 ใบงาน) รุ่นที่ 1 จัดขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจในแนวทางการดำเนินกิจกรรมการสำรวจและจัดทำฐานทรัพยากรท้องถิ่น ภายใต้ 3 ฐานทรัพยากร ได้แก่ ทรัพยากรกายภาพ ทรัพยากรชีวภาพ และทรัพยากรทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา เพื่อให้ทราบข้อมูลทรัพยากรในท้องถิ่น เห็นศักยภาพของท้องถิ่น และเกิดการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยมีแบบฟอร์ม 9 ใบงานเป็นเครื่องมือในการสำรวจ และ นำไปสู่การจัดทำฐานทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อสร้างระบบการจัดเก็บ และประมวลผล โดยความร่วมมือ ของ หน่วยงานต่างๆ เพื่อการอนุรักษ์ วางแผนพัฒนาท้องถิ่น และเป็นการบูรณาการสู่การเรียนรู้ ให้กับเยาวชน, เจม ให้เกิดความตระหนัก ถึงความสำคัญของทรัพยากรในท้องถิ่น โดยกระบวนการเรียนรู้ประกอบด้วยการบรรยายและลงพื้นที่ฝึกปฏิบัติการสำรวจ รวบรวมทรัพยากรท้องถิ่น (9 ใบงาน) ณ สวนดอกไม้บ้านตาติด ฟาร์มควายงาม ฐิกธาราฟาร์ม และศูนย์ภูมิปัญญาท้องถิ่น บ้านตาติด ตำบลโนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี และนำเสนอผลงานปฏิบัติการ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมมีความเข้าใจในแนวคิด แนวทางการสำรวจ เก็บรวบรวมและจัดทำฐานทรัพยากรท้องถิ่น นำไปสู่การปฏิบัติการในแต่ละขั้นตอน อย่างถูกต้อง ตามแนวทางของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ
เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว