โพสต์โดย : เพลิน วิชัยวงศ์ วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 , 12:27:14 (อ่าน 344 ครั้ง)
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยคณะวิทยาศาสตร์ จัดพิธีลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) (สซ.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (มอบ.) พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน สร้างเครือข่ายวิจัยที่เข้มแข็งสู่ระดับนานาชาติโดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีเป็นประธาน พร้อมลงนาม และศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร จึงสุทธิวงษ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวรายงาน พร้อมลงนามเป็นพยาน ด้านสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ซึ่งมีรองศาสตราจารย์ ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เป็นผู้ลงนาม และ ดร.วันทนา คล้ายสุบรรณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการวิชาการและวิจัย ลงนามเป็นพยาน ณ ห้องประชุมพิบูลมังสาหาร ชั้น 3 สำนักงานอธิการบดี 1มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 1พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา
ศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร จึงสุทธิวงษ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนา ศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สู่การต่อยอดนำไปใช้ประโยชน์ จึงจัดการลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือร่วมกับ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ภายใต้กรอบแนวทางความร่วมมือในการส่งเสริม และสนับสนุนพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน และ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสนับสนุนการฝึกอบรม การแลกเปลี่ยนบุคลากร และการถ่ายทอด องค์ความรู้เกี่ยวกับงานวิจัย เพื่อพัฒนาทักษะ ศักยภาพ และขีดความสามารถของบุคลากรวิจัยและ นักศึกษาบัณฑิตศึกษาที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยในอนาคต โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือมีกำหนดระยะเวลา 3ปี ตั้งแต่วันที่ 1เดือนพฤษภาคม 2567ถึงวันที่ 30เดือนเมษายน 2570
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เป็นสถาบันที่สามารถผลิตแสงซินโครตรอนแห่งเดียวในประเทศไทย สําหรับใช้ในการวิเคราะห์ วิจัย การปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ภาคอุตสาหกรรม และมีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน นับเป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ ที่มีความซับซ้อนทางเทคโนโลยีวิศวกรรม ที่นับเป็นโครงสร้างพื้นฐานอันสําคัญต่อการพัฒนา ประเทศทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ต้องการตอบโจทย์ลึกซึ้งทางวัสดุถึงระดับอะตอมและโมเลกุล มีการประยุกต์หลากหลาย ทั้งทางเกษตร การแพทย์ เภสัชกรรม และอุตสาหกรรม ดังนั้น การสร้างเครือข่ายการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีร่วมกันโดยใช้แสงซินโครตรอน และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ระหว่างทั้ง 2 สถาบัน จะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ดำเนินการตามพันธกิจมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเป้าหมายที่สำคัญคือการเป็น “มหาวิทยาลัยในดวงใจของชุมชน” และสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ที่จะเป็น “มหาวิทยาลัยชั้นนำในอาเซียนที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและนวัตกรรม” คณะวิทยาศาสตร์ เป็นหนึ่งในกลไกในการขับเคลื่อนสำคัญ ในการผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมด้านวัสดุศาสตร์และเทคโนโลยีวัสดุ ให้เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสอันนี้ดีของทั้ง 2 องค์กร ในพัฒนาผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติต่อไป
เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ ข่าว
เทอดภูมิ ทองอินทร์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ภาพ