โพสต์โดย : เทอดภูมิ ทองอินทร์ วันที่ 23 กรกฎาคม 2567 , 10:43:36 (อ่าน 277 ครั้ง)
ระหว่างวันที่ 20-21 กรกฎาคม 2567 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ร่วม นำขบวนแห่เทียนโบราณ “แนวแถน สู่แนวธรรม” เข้าร่วมในงานแห่เทียนเข้าพรรษา อุบลราชธานี 2567 ภายใต้แนวคิด "เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เมืองเทียน เมืองธรรม งามล้ำเมือง 4 แสง” โดยมีรศ.ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีนำ บุคลากร และ นักศึกษา ร่วมในริ้วขบวน
ทั้งนี้ ขบวนนำแสดงของพหุวัฒนธรรมย่านเมืองเก่าอุบลราชธานีของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นการนำเสนอความโดดเด่นของพื้นที่ย่านเมืองเก่าอุบลราชธานีทั้งด้านพัฒนาการของพื้นที่และความหลากหลายของกลุ่มวัฒนธรรมต่างๆ โดยพื้นที่ย่านเมืองเก่าอุบลราชธานีมีศักยภาพทางวัฒนธรรมที่ถือเป็น Soft Power ของพื้นที่ย่านเมืองเก่า ซึ่งประกอบด้วยทุนทางวัฒนธรรมที่มีศักยภาพโดยเฉพาะด้านอาหาร เทศกาลประเพณี และการแต่งกาย ของกลุ่มวัฒนธรรมทั้ง 5 กลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น
- กลุ่มวัฒนธรรมชาวไทยเชื้อสายจีน ที่มีทุนวัฒนธรรมที่โดดเด่นเกี่ยวกับอาหาร เช่น อาหารจีน ขนมหวาน เครื่องดื่มสมุนไพรจีน และสมุนไพรตำรับยาจีน ด้านเทศกาลประเพณี เช่น เทศกาลงานประเพณีจีน การแสดงวัฒนธรรมจีน รำมวยไทเก๊ก และภูมิปัญญาโหราศาสตร์จีน ด้านการออกแบบ เช่น งานศิลปะจีน สถาปัตยกรรมจีน เครื่องรางมงคลจีน การเขียนพู่กันจีน และศิลปะเชือกถักจีน เป็นต้น
- กลุ่มวัฒนธรรมชาวไทยอีสาน มีทุนวัฒนธรรมเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มอีสาน ด้านเทศกาลประเพณี เช่น เทศกาลงานประเพณีฮีตสิบสอง (การสรงน้ำพระแก้วเมืองอุบลฯ/ ไหลเรือไฟ/ แห่เทียนพรรษา/ องค์ความรู้จากใบลาน) งานพิธีบวงสรวงและสดุดีวีรกรรมพระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) การแสดงฟ้อนรำและดนตรีอีสาน และด้านสถาปัตยกรรมลาวล้านช้าง รวมถึงภูมิปัญญาช่างเทียน
- กลุ่มวัฒนธรรมชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม มีทุนวัฒนธรรมเกี่ยวกับด้านอาหาร และขนมหวานเวียดนาม ด้านเทศกาลประเพณี เช่น วันคล้ายวันเกิดประธานโฮจิมินห์ วันชาติเวียดนาม วันปีใหม่ชาวเวียดนามหรือวันตรุษจีน วันครูของเวียดนาม และศิลปะการแสดง หมัวหนอน (Mua Non) หรือรำกุบ และด้านการออกแบบ เช่น การแต่งกาย ชุดอ๋าวหญ่าย หมวกเวียดนาม
- กลุ่มวัฒนธรรมชาวไทยคริสต์ มีงานเทศกาลประเพณีทางศาสนาของชาวไทยคริสต์ และด้านการออกแบบ เช่น สถาปัตยกรรมแบบตะวันตก เช่น อาสนวิหารแม่พระนิรมลอุบลราชธานี สำนักอธิการโบสถ์ อาสนวิหารพระแม่นิรมล ซึ่งถือเป็นอาสนวิหารของสาสนาคริสต์แห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ผู้แทนอาสนวิหารแม่พระนิรมล
- กลุ่มวัฒนธรรมชาวไทยอินเดีย มีทุนวัฒนธรรมเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่ม เช่น อาหารอินเดียและเครื่องดื่มอินเดีย ด้านการออกแบบ เช่น การแต่งกาย เช่น ชุดส่าหรี ชุดแลงก้า ดัสตาร์ การโพกผ้าบนศีรษะแบบชาวซิกข์ งานศิลปะแบบอินเดีย เครื่องดนตรีอินเดีย เช่น ตาบลา (กลอง) และเชห์ไน (ปี่ลิ้นคู่) ด้านเทศกาลประเพณี (Festival) เช่น เทศกาลโฮลี (สาดสี) เทศกาลดิวาลี (เทศกาลแห่งแสงไฟ) และศาสตร์อายุรเวทอินเดีย
นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามจังหวัดอุบลราชธานีที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน สอดรับพันธกิจของมหาวิทยาลัย และพร้อมที่จะเป็น “มหาวิทยาลัยในดวงใจของชุมชน เป็นหลักของท้องถิ่น และเป็นปัญญาแห่งแผ่นดิน” ซึ่งมี นางสาวมัณฑนา เจือบุญ ผู้อำนวยการกองกลาง ผู้ควบคุมขบวนเทียนโบราณ อาจารย์วรารัตน์ บุญแฝง และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สืบพงศ์ หงษ์ภักดี ผู้ควบคุมขบวนพหุวัฒนธรรม
Tag อื่นๆ : #ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม